วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คณะศิษย์ 'หลวงปู่ทิม' วัดพระขาว จัดทำเว็บไซต์เทิดทูนเกียรติคุณ



คมชัดลึก : พระครูสังวรสมณกิจ (หลวงปู่ทิม อตฺตสนฺโต) อดีตเจ้าอาวาส วัดพระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา นับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม จนได้รับการขนานนามว่า เทพเจ้าแห่งความเมตตา โดยมีลูกศิษย์ที่เคารพศรัทธานับถือในวัตรปฏิบัติของท่านอยู่ทั่วประเทศ รวมทั้งต่างประเทศ เรื่องราวต่างๆ ของท่าน ไม่ว่าจะเป็นอรรถประวัติ หลักธรรม คำสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของวัตถุมงคล ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ในความศรัทธาสนใจของศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย และพุทธศาสนิกชนมาโดยตลอด  
---------------------------- มังคะลัง ร้านแห่งศรัทธา --------------------------------
คณะศิษย์ของหลวงปู่ทิม จึงได้ร่วมกันจัดทำเว็บไซต์ www.luangputim.com ขึ้นมา โดยได้กราบขออนุญาตจากหลวงปู่ทิม อย่างถูกต้อง (ตั้งแต่สมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่) เมื่อปี ๒๕๔๘ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการเผยแพร่ ประวัติ หลักคำสอน ตลอดจนเรื่องราวต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่ รวมทั้งได้รวบรวมภาพเหตุการณ์ต่างๆ และภาพวัตถุมงคลที่ทางวัดพระขาวจัดสร้างขึ้น

 เว็บไซต์มีเว็บบอร์ดเป็นแหล่งข้อมูล และเป็นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทิมโดยตรง และการประชาสัมพันธ์เพื่อสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้เว็บไซต์ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยผู้ที่สมัครสมาชิกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ท่านที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม และสมัครสมาชิก (ฟรี) ได้ที่ www.luangputim.com



 หลวงปู่ทิม อตฺตสนฺโต ถือกำเนิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือนมีนาคม ๒๔๕๖ ตรงกับปีฉลู ณ ต.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนที่๕ ของคุณพ่อพร้อม กับคุณแม่กิ่ม ชุ่มโชคดี
 ในวัยเยาว์ ศึกษาเล่าเรียน ที่วัดพิกุล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา จนอายุได้ ๑๓ ปี (จบป.๔ ในสมัยนั้น) ก็ออกจากโรงเรียนมาช่วยครอบครัวทำนา
 ในปี๒๔๗๗ เข้าอายุเกณฑ์ทหาร เป็นทหารประจำการอยู่ ๑ ปี ๓ เดือน ก็ปลดประจำการ จากนั้นในเดือนกรกฎาคม ๒๔๗๘ ได้อุปสมบท เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา ณ วัดพิกุล โดยมีหลวงปู่ปุ้ย วัดขวิด เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงลุงหลิ่ม วัดโพธิ์กบเจา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการหลิ่ว วัดพิกุล เป็นพระอนุสาวนาจารย์
 ต่อมาในปี ๒๔๘๔ นับเป็นความภูมิใจของหลวงปู่เป็นอย่างมาก ที่ได้มีโอกาสรับใช้ชาติเพื่อแทนคุณแผ่นดิน โดยเข้าร่วมรบยังประเทศเขมร จากนั้นหลวงปู่ยังกลับเข้าประจำการเพื่อรักษาความสงบภายในให้ฝ่ายสัมพันธ มิตร ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกด้วย
 ด้วยความเป็นเนื้อนาบุญในพระพุทธศาสนาที่จริงแท้ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๙๑ ความประสงค์ที่ท่านตั้งใจมั่นไว้ก็เป็นจริงอีกครั้ง เมื่อได้รับการอุปสมบทอีกครั้ง โดยมีพระครูอุดมสมาจารย์ (หลวงพ่อสังข์) วัดน้ำเต้า เป็นพระอุปัชฌาย์ จำพรรษาที่วัดพิกุล โดยได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มกำลังตามที่ตั้งใจทั้งด้าน พระวินัย  พระธรรม อีกทั้งการเจริญกรรมฐาน
 ในปี ๒๔๘๙ หลวงปู่ได้มารับตำแหน่งสมภารวัดพระขาว ได้ใช้ความรู้ความสามารถพัฒนาวัดพระขาวในทุกๆ ด้านจนมีความเจริญและสวยงามอย่างที่เห็นในทุกวันนี้
 นอกจากหลวงปู่จะเป็นพระนักพัฒนาที่ยอดเยี่ยมแล้ว ในด้านการศึกษาธรรมะก็สามารถสอบได้ถึงนักธรรมชั้นเอกอีกด้วย
 พ.ศ.๒๕๑๐ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลน้ำเต้า และตำบลพระขาว พร้อมได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นตรีที่ "พระครูสังวรสมณกิจ" พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม
 เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙ ได้รับการถวายปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ในฐานะผู้บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาสงเคราะห์ประชาชนและส่งเสริมพัฒนาชุมชน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
 สำหรับด้านพุทธาคม นอกจากหลวงปู่จะได้รับการศึกษาจากหลวงพ่อสังข์ วัดน้ำเต้า แล้วยังได้ศึกษาจากหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อาจารย์จู อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และสำนักเขาวงกฎ บ้านหมี่ จ.ลพบุรี 
 จากการตั้งมั่นในการศึกษา ทั้งด้านวิปัสสนากรรมฐาน และสายวิชาพุทธาคม น่าจะเป็นเหตุแห่งผลของความโด่งดัง ในด้านวัตถุมงคลของหลวงปู่ โดยเฉพาะในด้านเมตตา ไม่ว่าจะเป็นลูกอมชานหมาก ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์แทนความเมตตาของท่าน ที่มีให้แก่ศิษย์ อีกทั้งวัตถุมงคลต่างๆ ที่ทางวัดพระขาวจัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระต่างๆ เช่น เหรียญรูปเหมือน พระผง ล็อกเกต รุ่นต่างๆ ล้วนเป็นที่ต้องการอยากได้ไว้บูชาของลูกศิษย์ทุกคน
 จวบจนกระทั่งวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๕๕ น. หลวงปู่ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ  นับเป็นความสูญเสียพระบริสุทธิสงฆ์ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่คณะศิษยานุศิษย์ และชาวพุทธทั่วประเทศ

 แต่ด้วยบารมีธรรมและความถึงพร้อม เหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจก็เกิดขึ้น เมื่อปรากฏว่า สรีระของหลวงปู่ไม่ได้เน่าเปื่อยแต่ประการใด ยังคงสภาพของสังขารตามเดิม ศิษยานุศิษย์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญสังขารของท่าน ประดิษฐานในหีบแก้วไว้บนมณฑปไม้สักทองลายรดน้ำ “อัตตสันตมหาเถราจารย์” เพื่อให้ศรัทธาสาธุชนได้กราบไหว้ จนถึงทุกวันนี้
0 บุญนำพา 0

ที่มา นสพ คมชัดลึก
www.komchadluek.net/detail/20100708/65664/%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อนุโมทนา